ผู้จัดจำหน่ายและนำเข้า อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ห้องแลป และสื่อการเรียนการสอน

48th Anniversary

ชุดวัดอัตราการหายใจของเมล็ดถั่ว

จุดประสงค์

เพื่อศึกษาอัตราการหายใจของเมล็ดถั่วหลักการหายใจและการแลกเปลี่ยนก๊าซของพืชการหายใจและการแลกเปลี่ยนก๊าซของพืช คือ กระบวนการใช้พลังงานจากกลูโคส โดยกลูโคสจะรวมกันทางเคมีกับออกซิเจนได้ คาร์บอนไดออกไซด์ และนํ้า และการปล่อยพลังงานออกมา ดังสมการต่อไปนี้

C6H12O6 + 6O2 => 6CO2 + 6H2O + Energy

เมื่อเปรียบเทียบสมการของการสังเคราะห์แสงกับสมการของการหายใจแล้ว พบว่า พลังงานถูกเก็บไว้ในรูปของอาหาร จะถูกนำไปใช้โดยกระบวนการหายใจ การสังเคราะห์แสงเกิดขึ้นเฉพาะในเซลล์ที่มีคลอโรฟิลล์เท่านั้น แต่การหายใจเกิดขึ้นกับทุกเซลล์ การหายใจของพืชคือการ ย่อยสลายของโมเลกุลกลูโคสซึ่งได้จากการสังเคราะห์แสงของตนเอง

การหายใจของพืชหลังการเก็บเกี่ยวมาจากต้นยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสรีระวิทยาและชีวเคมี โดยเฉพาะกระบวนการหายใจจะดำเนินต่อไปจนสิ้นอายุขัยของเซลล์โดยจะมีการรับเอาแก๊สออกซิเจนเข้าไปสลายโมเลกุลของสารอาหารและปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และพลังงานความชื้นออกมา พืชส่วนที่ถูกเก็บเกี่ยวมาจะพบว่ามีการสูญเสียอาหารและนํ้าจากกระบวนการหายใจและคายนํ้า ดังนั้นผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวจะสดได้นานเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารและนํ้าที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อและอัตราการหายใจของผลผลิตของพืชชนิดนั้น ๆ และอุณหภูมิมีผลโดยตรงต่อการหายใจและเมแทบอลิซึมของพืช อายุของผลผลิตทางการเกษตรจะสิ้นสุดเมื่ออาหารที่ถูกสะสมใช้หมดไปและขณะเกิดปฏิกิริยาการหายใจจะมีความร้อนเกิดขึ้น ผักผลไม้หรือดอกไม้ที่มีอัตราการหายใจสูงจะผลิตความร้อนออกมามากกว่าพวกที่มีอัตราการหายใจต่ำเพราะจะมีอัตราการสลายโมเลกุลของสารอาหารมากกว่า

อุปกรณ์การทดลอง

รหัสสินค้า ชื่อสินค้า จำนวน
30S110 ขวดรูปชมพู่ 50 ml 1
30G160 ปิเปตขนาด 1 ml 1
8620201-400 บีกเกอร์ขนาด 400 ml 1
30130911 จุกยางเจาะรู 1
3096135 โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 1
3011105 ขาตั้ง 1
30160903 ที่จับคอนเดนเซอร์ 1
30145507 ช้อนตักสาร เบอร์ 2 1
3019366 หลอดแก้ว ยาว 10 cm 1

** สามารถซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น สำลี สีผสมอาหาร สายยาง

รูปที่ 1 วิธีการทดลอง

วิธีการทดลอง

1. นำเมล็ดถั่วเขียวจำนวนหนึ่งมาแช่ทิ้งไว้ค้างคืน 1 คืน
2. นำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่นํ้าทิ้งไว้ค้างคืนจำนวน 15-40 เมล็ด มาชั่งนํ้าหนักและบันทึกนํ้าหนัก
3. นำเมล็ดถั่วเขียวที่ชั่งนํ้าหนักแล้วมาใส่ในขวดรูปชมพู่ แล้วนำสำลีใส่ตามลงไปให้ปิดคลุมเมล็ดถั่ว จากนั้นใส่ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (ชนิดเกล็ด) ลงไป 3 ช้อน (ช้อนตักสารเบอร์ 2) แล้วนำจุกยางที่มีสายยางเสียบกับ ปิเปตไว้แล้วมาปิดปากขวดรูปชมพู่ให้แน่น
4. นำชุดทดลองไปใส่ในบีกเกอร์ที่มีนํ้าอยู่เกือบเต็ม โดยใช้ชุดขาตั้งยึดขวดรูปชมพู่เอาไว้ ตั้งชุดทดลองในอุณหภูมิห้อง
5. นำปลายปิเปตจุ่มนํ้าสีเล็กน้อย สังเกตการณ์เคลื่อนที่ของหยดนํ้าสีในปิเปต โดยจับเวลาเป็นระยะ ๆ ประมาณ 25- 30 นาที
บันทึกผลการทดลอง
6. นำข้อมูลที่ได้ไปเขียนกราฟ แล้วคำนวณหาอัตราการหายใจของเมล็ดถั่วจากสูตร

ตัวอย่างผลการทดลอง

จำนวนเมล็ดที่ใช้ทดลอง 15 เมล็ด นํ้าหนักของเมล็ดถั่ว (นํ้าหนักสด) = 2.43 กรัม

ตารางบันทึกผลการทดลอง (ที่อุณหภูมิห้อง)

เวลา
(นาที)
ปริมาตรของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
การทดลองครั้งที่ 1 การทดลองครั้งที่ 2 ค่าเฉลี่ย (X)
0 0 0 0
5 0.50 0.50 0.50
10 0.53 0.53 0.53
15 0.65 0.58 0.62
20 0.70 0.62 0.66
25 0.85 0.66 0.76
30 0.89 0.78 0.84
35 0.89 0.83 0.86

 

ตัวอย่างการการคำนวณอัตราการหายใจ
อัตราการหายใจ = ค่าความชันของกราฟ / นํ้าหนักเมล็ดถั่ว = 0.28 / 2.43
= 0.12 มิลลิลิตร/นาที/กรัม
 

ข้อเสนอแนะ

1. นอกจากถั่วเขียวแล้วยังสามารถทดลองได้กับถั่วอีกหลาย ๆ ชนิด เช่น ถั่วเหลือ ถั่วแดง เป็นต้น
2. อาจประยุกต์การทดลองนี้ใช้ทดลองกับพืชชนิดอื่น ๆ ได้
3. อาจทำการทดลองหลาย ๆ ชุดเพื่อเปรียบเทียบอัตราการหายใจของเมล็ดถั่วที่มีระยะเวลาในการงอกแตกต่างกันได้

อ้างอิง: เอกสารสำหรับผู้รับการอบรมชีววิทยา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรที่ 2 . สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , 2551.

 

ชุดวัดอัตราการหายใจของเมล็ดถั่ว